ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัยบุรีรัมย์ ประชุมติดตามสถานการณ์เพื่อเตรียมรับสถานการณ์และผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่น”โนรู” พร้อมกำชับทุกอำเภอเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่

ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัยบุรีรัมย์ ประชุมติดตามสถานการณ์เพื่อเตรียมรับสถานการณ์และผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่น”โนรู” พร้อมกำชับทุกอำเภอเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่ 
วันนี้  (28 ก.ย.65) ที่ห้องศูนย์ปฎิบัติการ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์  นายศรัณยู  มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วย นายสัญญ์ธวัชช์ ริ้วเหลืองหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบุรีรัมย์ และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ รับทราบข้อสั่งการจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ได้กำชับไปยังทุกจังหวัดในการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์พายุโนรูซึ่งเคลื่อนเข้ามาส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในระหว่างวันที่ 28 - 30 ก.ย.65 โดย พล.อ.อนุพงษ์ สั่งการให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทุกจังหวัด จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด ติดตามสถานการณ์พายุโนรู รวมทั้งประเมินสถานการณ์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ กำชับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับ ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยเพื่อให้พร้อมเผชิญเหตุและให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ ให้จัดชุดปฏิบัติการจากฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ มูลนิธิ อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เร่งเข้าคลี่คลายสถานการณ์ หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงในพื้นที่ ให้ผู้อำนวยการสั่งการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัย หรือศูนย์พักพิงที่จัดเตรียมไว้โดยทันที โดยให้ฝ่ายปกครองกำนันผู้ใหญ่บ้านผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัครประชาชนจิตอาสา เข้าดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นระบบ สำหรับจังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย และเกิดขึ้นต่อเนื่องให้จัดตั้งศูนย์พักพิงและวางแผนบริหารจัดการ เพื่อรองรับการอพยพของประชาชนอย่างเป็นระบบ
          ทั้งนี้ นายศรัณยู  มีทองคำ  รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ได้กำชับให้อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ติดตามสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่อย่างใกล้ชิดและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้รับทราบสถานการณ์เป็นระยะ นอกจากนี้ ให้จัดเตรียมเครื่องมือเครื่องจักร อุปกรณ์กู้ชีพกู้ภัย ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ พร้อมที่จะเข้าดำเนินการคลี่คลายสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดเหตุการณ์สาธารณภัยขึ้นในพื้นที่
       ทั้งนี้ จังหวัดบุรีรัมย์ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย พร้อมจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด และศูนย์บัญชาการอำเภอ เพื่อประสานงานเหตุการณ์และความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหากเกิดสถานการณ์แล้ว ที่ผ่านมามีพื้นที่ อ. สตึก บ้านด่าน แคนดง พุทไธสง บ้านใหม่ไชยพจน์ เฉลิมพระเกียรติ นางรอง ชำนิ นาโพธิ์ ห้วยราช คูเมือง และอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ซึ่งได้ประสานหน่วยงานในพื้นที่ให้ความช่วยเหลือรวมถึงเตรียมเรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้เก็บของขึ้นที่สูง พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำ ตลอด 24 ชั่วโมง ด้านหน่วยทหาร ได้จัดกำลังพล ยุทโธปกรณ์ อุปกรณ์ และรถครัวสนาม พร้อมด้วย จิตอาสา ผู้นำชุมชน ลงพื้นที่มอบสิ่งของอุปโภคบริโภคเบื้องต้นให้กับผู้ประสบภัยในพื้นที่
         ขณะที่ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของจังหวัดบุรีรัมย์ 16 แห่ง เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 1 แห่ง  (อ่างเก็บน้ำลำนางรอง) อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก 15 แห่ง ปัจจุบัน ( 27 ก.ย.65 ) ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ความจุของอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งสิ้น 295.385 ล้านลูกบาศก์เมตร ระดับเก็บกักปัจจุบัน 232.589 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 78.74 เปอร์เซ็นต์ ในการเตรียมความพร้อมรองรับน้ำจากพายุไต้ฝุ่นโนรู ได้มีการพร่องน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ คือ อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากและอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด เพื่อรองรับมวลน้ำจากพายุ โดยได้มีการประสานการทำงานกับพื้นที่ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่น้ำไหลผ่าน เพื่อประเมินผลกระทบกับประชาชนที่อยู่ตามเส้นทางน้ำ พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชนที่อยู่ตามเส้นทางน้ำด้วย
 


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar
บทความที่น่าสนใจ
บทความยอดนิยม