องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) นำร่องจังหวัดบุรีรัมย์เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
วันนี้ (10 ม.ค. 65 ) ที่ โรงแรม Cresco อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วยนาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมรับฟังความคิดเห็นภาคีเครือข่ายด้านการท่องเที่ยว การประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จังหวัดบุรีรัมย์”ภายใต้ โครงการการศึกษาความเหมาะสมเพื่อเตรียมประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชนและตัวแทนวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดบุรีรัมย์เข้าร่วมประชุม พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งได้จัดการประชุมโดยการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวดซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมรวมถึงผู้จัดงานและเจ้าหน้าที่ จะต้องผ่านการตรวจ ATK และผ่านจุดคัดกรองก่อนเข้าร่วมประชุม
ซึ่งการจัดประชุมในครั้งนี้ได้นำเสนอผลการศึกษาการประเมินพื้นที่ เพื่อกำหนดร่างขอบเขตพื้นที่พิเศษจังหวัดบุรีรัมย์ , เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่างขอบเขตพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน, การประชุมกลุ่มย่อย เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์ และความต้องการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึงการระดมความคิดเห็นการประเมินความพร้อมของภาคีเครือข่ายการขับเคลื่อนพื้นที่พิเศษจังหวัดบุรีรัมย์
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผอ.อพท. เปิดเผยว่า จังหวัดบุรีรัมย์เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางการท่องเที่ยวที่โดดเด่น และเหมาะสมที่จะเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งการที่จะเป็นพื้นที่พิเศษได้ต้องมีองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ คุณค่าด้านแหล่งท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ด้านนี้จะเห็นได้ว่าจังหวัดบุรีรัมย์ได้มีการเชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวกับอารยธรรมขอม รวมถึงนำวิถีชีวิตของชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นการทอผ้าไหม การปลูกข้าวฯลฯ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน มาผสมผสานกับการท่องเที่ยวได้อย่างลงตัว / ด้านที่ 2 คือการบริหารจัดการกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว มีการบริหารจัดการดี ไม่ว่าจะเป็นที่พัก สิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงกิจกรรมที่น่าสนใจ และด้านที่ 3 คือ พื้นที่ที่เสี่ยงต่อการถูกทำลาย ซึ่งจังหวัดบุรีรัมย์ ต้องเร่งปกป้อง และเป็นเมืองต้นแบบพื้นที่พิเศษแห่งอารยธรรมอีสานใต้ จากนั้น อพท. จะพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา , สุรินทร์ , ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และเชื่อมโยงพื้นที่ท่องเที่ยวต่อไป
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ กล่าวว่า การที่จังหวัดบุรีรัมย์ ได้เป็นอันดับ 1 ของการประเมินศักยภาพและความเหมาะสมในการประกาศพื้นที่พิเศษ จะส่งผลให้เกิดกิจกรรมที่หลากหลายภายในจังหวัด ซึ่งประชาชนในพื้นที่ทุกพื้นที่ที่มีการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนจะได้รับประโยชน์จากการสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจให้ชุมชนอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการกระจายความรู้ด้านการดำเนินการต่างๆที่อาศัยเรื่องการมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจและรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน ส่วนการท่องเที่ยวในยุคสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางจังหวัดได้ให้ความสำคัญตั้งแต่หน้าด่านที่รับนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัด ซึ่งประชาชนในจังหวัดบุรีรัมย์ได้รับวัคซีนมากกว่า 90% และมีมาตรการคัดกรองคนเข้าจังหวัดที่เข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองผู้ที่เขามาในจังหวัดอย่างน้อยต้องรับวัคซีนแล้ว 2 เข็ม ผู้ที่มาจากพื้นที่สีเหลือง สีส้ม หรือสีฟ้า จะต้องมีการตรวจ ATK ไม่เกิน 72 ชั่วโมง และมาตรการอื่นๆ ฉะนั้นขอให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวมั่นใจ